บริการให้การปรึกษาสุขภาพจิต

Self-Harm: วิธีป้องกันและรับมือกับการทำร้ายตนเอง

Self-Harm: วิธีป้องกันและรับมือกับการทำร้ายตนเอง

ทุก ๆ นาทีมีการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในโลกนี้ ความรู้สึกอะไรที่ผลักให้คนหนึ่งคนไปยืนอยู่ปลายทาง ? บางทีอาจเป็นความรู้สึกวิตก ซึมเศร้า ความหวาดกลัว หรือแม้แต่ความรู้สึกท่วมท้นที่รบกวนใจจนอยากหาทางระบายออก เขาอาจแค่ต้องการหาทางรับมือกับความคิดความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่มีทางใดจะแก้ไขก็เป็นได้

การทำร้ายตัวเองคืออะไร ?

อธิบายง่าย ๆ การทำร้ายตัวเอง หมายถึงพฤติกรรมใด ๆ ก็ตามที่ใครบางคนทำแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง เป็นวิธีที่คน ๆ นั้นรู้สึกว่ามันช่วยรับมือกับความคิดและความรู้สึกที่ยากลำบากหรือน่าวิตกได้ มีตั้งแต่พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการฆ่าตัวตาย (suicide)

และถึงแม้ว่าการทำร้ายตัวเอง (self-harm) จะเกิดขึ้นบ่อย อย่างในยุโรปมีการสำรวจพบว่ามากกว่า 10-20% ของคนวัยหนุ่ยสาวเคยมีประสบการณ์ทำร้ายตัวเองหรือกำลังทำอยู่ แต่ปัญหาสุขภาพจิตก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อคติที่สั่งสมมาทำให้หลายคนยังเชื่อว่าโรคทางจิตเวชไม่มีอยู่จริง บางอาการเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจ ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังของการตัดสินใจทำร้ายตัวเองคืออะไร เราก็ไม่ควรมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย หากอยากให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ทำร้ายตัวเองเพราะ “ความเจ็บ” ช่วยตอกย้ำ “การมีอยู่”

แต่ละคนก็มีสิ่งที่ทำให้เครียดและกังวลแตกต่างกันไป บางคนสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองหรือรู้สึกดีเพียงแค่การพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว ในขณะที่คนอื่นอาจพบว่าปัญหาเหล่านี้เป็นก้อนหินทิ่มแทงใจตลอดเวลา ยิ่งถ้าไม่ได้แสดงอารมณ์และพูดถึงสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ โกรธหรือไม่พอใจ ความรู้สึกลบอาจก่อตัวขึ้นจนเราทนไม่ไหว จึงหันมาใช้ร่างกายเพื่อแสดงความคิดและความรู้สึกที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ เมื่อรู้สึกเจ็บก็แปลว่ายังหายใจ แต่เมื่อได้ทำร้ายตัวเองกลับพบว่าความรู้สึกทุกข์มีมากกว่าเดิม เราก็จะรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองมากขึ้นไปอีก

เหตุการณ์ในชีวิตเป็นอีกสิ่งสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการทำร้ายตัวเอง เช่น สภาพแวดล้อม ครอบครัว โรงเรียนหรือปัญหาหลายด้านที่รุมเร้า นั่นแสดงให้เห็นว่าบางคนมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองมากกว่าคนอื่นเพราะสิ่งที่กดดันเขา นอกจากนี้ปัญหาด้านสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ความนับถือตนเองต่ำ (low self-esteem) ฯลฯ

หลายคนทำร้ายตัวเองเพื่อ “ขจัดความโกรธ และความเจ็บปวด” ที่เกิดจากแรงกดดันในชีวิต เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรและไม่รู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือกอื่นอีก

มีคนที่เจ็บปวดจริงในโลกอีกใบและมีบางคนที่ไม่เคยสัมผัสความมืดมนนั้น

บางคนบอกว่าการทำร้ายตัวเองก็เป็นเหมือน “วงจร” ที่เข้ามาแล้วหาทางออกได้ยาก มักจะเริ่มต้นเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากความคิดและความรู้สึกที่ทับถมใจเรา เมื่อทำไปแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางอารมณ์ของเราได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี สิ่งสำคัญคือหลายคนไม่ทันรู้ตัวว่ามันไม่ใช่ทางออกที่จะพาเราออกจากโลกที่เจ็บปวดได้จริง ถ้าเราไม่ได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของตัวเองในปัจจุบันมากพอ การใช้เหตุผลพื้นฐานก็จะหายไปด้วย และถ้าเราทำร้ายตัวเองซ้ำ ๆ สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกผิด ความละอาย รู้สึกไม่มีคุณค่า กลายเป็นกล่าวโทษตัวเองที่เราไม่รักตัวเองให้มากพอ

สิ่งสำคัญคือความรู้สึกลบที่เรากำลังเผชิญอยู่ ใช่ว่าจะคงอยู่ตลอดไป

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวออกมาบอกว่าเรากำลังทำร้ายตัวเอง โดยเฉพาะการพูดถึงต้นตอของปัญหา เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนที่จะปิดบังมุมที่เราเปราะบาง การขอความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องยากมาก แต่เป็นก็ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการดึงความรู้สึกตัวเองกลับมา

???? เราสามารถคุยกับใครได้บ้างในเวลาที่อารมณ์ของเราดำดิ่งลง

ตามหาพื้นที่สบายใจของตัวเองและจัดสรรเวลาเพื่อใส่ใจความรู้สึกบ้าง การฝ่าฟันทุกอย่างในชีวิตอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่การรู้จังหวะที่ควรก้าวเดินนั้นจะทำให้ใจเรามั่นคงในทุกขณะ ที่ขาดไม่ได้คือแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและสามารถฟื้นฟูความรู้สึกให้กลับมาดีเหมือนเดิม

บางกรณีการพูดคุยกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์หรือใช้ยาในการรักษาตามขั้นตอนเป็นเรื่องจำเป็น สิ่งสำคัญคือการเปิดใจพูดคุยถึงปัญหา การเรียนรู้วิธีรับมือกับสิ่งที่เข้ามา ถ้าจัดการกับปัญหา ความเครียดหรืออารมณ์ความรู้สึกได้อย่างถูกวิธี เราจะตัดวงจรการทำร้ายตัวเองได้ผลในระยะยาวมากกว่า

อีกวิธีคือการใช้ ‘เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจ’ เป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์มากในการลดหรือหยุดการทำร้ายตนเอง เช่น การฝึกลมหายใจ การเขียนบรรยายความรู้สึก การชกตีหมอนเพื่อระบายอารมณ์ ฟังเพลงที่ชอบ ออกไปเดินเล่น ฯลฯ เทคนิคเหล่านี้ช่วยปลดปล่อยความกดดันทางอารมณ์ที่เรารู้สึกได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองเจ็บปวด

ลองทบทวนวิธีแก้ปัญหาที่เราใช้เมื่อเกิดความรู้สึกด้านลบ เราแก้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเราจมอยู่กับห้วงความคิดนั้นเป็นเวลานาน ? เราติดอยู่กับอดีตและกังวลกับอนาคตมากกว่าการอยู่กับปัจจุบันหรือเปล่า ? อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อใดก็ตามที่เราต้องการ การพูดถึงความรู้สึกไม่ใช่ตัวตัดสินความอ่อนแอ แต่มันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังพยายามดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองให้ดีขึ้น

การพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการบอกเล่าความกังวลใจให้ใครสักคนรับฟัง ไม่ว่าปัญหาเรื่องอะไรคงจะดีไม่น้อยถ้ามีใครยืนอยู่ข้างเราโดยไม่ตัดสิน ไม่กล่าวโทษในสิ่งที่เราคิดหรือทำลงไป อูก้าพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน


อ้างอิงจาก

https://www.youtube.com/watch?v=iaYaN4b–Ow

https://www.mentalhealth.org.uk/publications/truth-about-self-harm

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้ที่มีสุขภาพจิตดี
ผู้ที่มีสุขภาพจิตดี
อ่านเพิ่มเติม
ผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต
ผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต
อ่านเพิ่มเติม
การส่งเสริมสุขภาพจิตง่าย ๆ ด้วยตนเอง
การส่งเสริมสุขภาพจิตง่าย ๆ ด้วยตนเอง
อ่านเพิ่มเติม